ปลาออร์ฟิช

หัวข้อแนะนำ

รู้จัก ปลาออร์ฟิช ปลาพญานาค ที่ถูกโยงเป็น ปลาแผ่นดินไหว ล่าสุดพบที่ จ.สตูล

ปลาออร์ฟิช จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊ก Wannarrong Sa-ard ได้โพสต์ภาพปลาชนิดหนึ่งที่มีรูปร่างยาวประหลาด พร้อมข้อความว่า “ปลาอะไรคะ ติดเรือขึ้นมาค่ะ (เรือ ก.เทพเจริญพร 15) ละงู สตูล สรุป จากภาพ น้องคือปลาออฟิชนะคะ(ใช่หรือไม่ ต้องรอผลวิจัยอีกที) แต่ตอนนี้มีพี่นักวิจัยประมงมารับน้องไปวิจัยแล้วนะคะ”

เจ้าของโพสต์ได้ระบุเพิ่มเติมอีกว่า “น้องโดนกระบะปลาทับค่ะ เนื่องจากมีความยาวเลยเป็น 3 ท่อน ตอนถ่ายภาพที่ 2ในโพสต์คือยังหาท่อนหางไม่เจอค่ะ”

สำหรับปลาออร์ฟิช หรือ ปลาพญานาคเป็นสัตว์ที่ถูกพบเห็นได้ยาก มักอาศัยอยู่ใต้ทะเลในระดับลึกกว่า 50-250 เมตรลงไป และอาจพบได้ที่ความลึกถึง 1,000 เมตร แต่เมื่อปรากฏตัวแต่ละครั้งก็จะสร้างความสนใจให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับชาวญี่ปุ่นที่เชื่อกันว่าปลาพญานาคนั้นเปรียบเสมือนตัวแทนผู้ส่งสารจากวังของพญามังกร ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งท้องทะเล ที่จะมาเตือนผู้คนว่าภัยพิบัติกำลังจะมาเยือน

ต่อมา ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ถึงกรณีดังกล่าวผ่านทางเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ว่า “พบปลา oarfish ที่สตูล ตอนนี้ยืนยันแล้วครับ ภาพจากคุณ Apiradee Napairee ให้น้องๆ ที่กรมประมงไปถ่ายภาพมา

oarfish เป็นปลาน้ำลึก พบได้ทั่วโลก แต่เนื่องจากอยู่น้ำลึก คนจึงไม่คุ้นเคย รูปร่างยังประหลาด บางคนเรียกปลาพญานาค เพราะเคยมีภาพถ่ายทหารอุ้มปลา บอกว่าเป็นแม่น้ำโขง ภาพนั้นเป็นปลาจริง แต่ถ่ายแถวชายฝั่งอเมริกา ไม่ใช่แม่โขง

ในเมืองไทยเท่าที่จำได้ ไม่เคยมีข่าว (ต้องเช็กอีกทีนะครับ) แต่หากถามว่าในโลกหายากขนาดนั้นไหม? คำตอบคือเจอเรื่อยๆ ครับ สมัยไปลงเรือสำรวจญี่ปุ่น ลงอวนน้ำลึกก็จับลูกปลา oarfish ได้เช่นกัน

oarfish แพร่กระจายทั่วโลก ที่น่าสงสัยคือเจอที่สตูลได้อย่างไร? อันดับแรก จับได้ที่ไหน?

ตอนนี้ผมยังไม่ทราบ เอาเป็นว่าแถวอันดามัน ทะเลอันดามันน้ำลึกครับ เฉพาะในไทยลึกสุดก็ 2,000 เมตร อาจมี oarfish อยู่แถวนั้น แต่ปรกติเราไม่จับปลาน้ำลึก ก็เลยไม่ค่อยรู้จักกัน อีกอย่างคือช่วงนี้น้ำเย็นเข้าอันดามัน ปรากฏการณ์ IOD (เล่าหลายหนแล้ว) มีปลาแปลกๆ เข้ามาตามมวลน้ำ

เมื่อไม่กี่วันก่อนก็มีโมล่าติดอวน ลูกเรือช่วยกันปล่อยไปแล้ว จึงเป็นไปได้ว่า oarfish ตัวนี้จะเข้ามาตามน้ำ อีกทั้งยังมีขนาดเล็ก (ตัวใหญ่ยาวหลายเมตร ภาพจากอะควอเรี่ยมญี่ปุ่น ที่ผมลงให้ดู ตัวนั้นยาวเกิน 5 เมตร) ทราบว่าจะนำมาให้พิพิธภัณฑ์ ถือเป็นเรื่องดี จะได้รู้จักกันมากๆ ครับ

อนึ่ง ไม่ต้องตื่นเต้นตกใจ แม้บางทีเราอาจได้ยินว่าเป็นปลาแผ่นดินไหว แต่เป็นการว่ายเข้ามาที่ฝั่ง ไม่ใช่จับมา แม้ว่ายมาฝั่งก็ไม่ใช่ทุกครั้ง อันที่จริง ผมเชื่อว่าเป็นเรื่องบังเอิญมากกว่า จึงไม่ต้องตื่นตระหนกกัน สตูลยังเที่ยวได้ครับ

ขอขอบคุณบทความจาก : ปลาออร์ฟิช